นิสัยส่วนตัว | รัก, เอาใจใส่, อยากรู้อยากเห็น, มุ่งเน้นครอบครัว |
แหล่งกำเนิดที่มา | พม่า |
ชื่ออื่น | อเมริกันเบอร์มีส, ยูโรเปียนเบอร์มีส, ศุภลักษณ์ และ ทองแดง |
กลุ่ม | ขนสั้นขนาดกลาง |
สูง | 20-25 ซม. |
ลำตัวยาว | 30-40 ซม. |
น้ำหนัก | 3.5-5.5 กก. |
อายุขัย | 12-16 ปี |
เกี่ยวกับ แมวศุภลักษณ์
แมวศุภลักษณ์ ( Burmese cats ) เป็นแมวที่คุยเก่ง มีรูปร่างที่นุ่มนิ่มเพรียวบาง ซึ่งเจ้า ศุภลักษณ์นั้นเป็นทายาทสายตรงของ แมววิเชียรมาศ ของไทย ซึ่งนิสัยช่างพูดของพวกเขาก็สืบทอดมาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เสียงของ ศุภลักษณ์ นั้นอาจจะดูนุ่มนวล และร้องน้อยกว่าเล็กน้อย
เช่นเดียวกับ แมววิเชียรมาศ โดย ศุภลักษณ์ นั้นมีนิสัย ขี้เล่น ร่าเริง และแสนรู้ พวกน้องสามารถเข้ากับคนได้ง่าย และชอบที่จะคลอเคลีย ความจริงแล้ว ลูกแมวศุภลักษณ์นั้นน่ารักมากจน National Alliance of Burmese Breeders (NABB) ตั้งฉายาน้องว่า “เพื่อนคู่หูที่ดีที่สุด”
ศุภลักษณ์ นั้นแบ่งได้สองพันธุ์ คือ อเมริกันเบอร์มีส และ ยูโรเปียนเบอร์มีส โดยอเมริกันเบอร์มีสนั้นตัวเตี้ยกว่า มีหัวที่กว้างกว่า โครงหน้าสั้นกว่า และมีดวงตาที่กลมโตชัดเจน ส่วนยูโรเปียนเบอร์มีส หรืออีกชื่อคือ บริติชเบอร์มีส นั้นมีโครงหน้าที่ยาว หัวรูปลิ่ม และดวงตาที่เอียงอย่างชัดเจน
การดูแล
ศุภลักษณ์ ไม่ต้องการสารอาหารที่พิเศษกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องการอาหารแมวคุณภาพสูงที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลัก
เนื่องจากโรคเบาหวาน และโรคอ้วนอาจเป็นปัญหาสำหรับลูกแมวสายพันธุ์นี้ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอายุเยอะแล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตในช่วงวัยเด็ก
ด้วยขนสั้นที่นุ่มละเอียด ศุภลักษณ์ จึงไม่ต้องการการดูแลขนมากนัก การแปรงขนเป็นประจำทุกสัปดาห์ สามารถช่วยกำจัดขนที่เสียแล้วได้ และการถูด้วยผ้าชามัวร์อย่างรวดเร็วก็ช่วยให้ขนของพวกเขาเงางามขึ้นได้
นอกจากนี้ คุณควรสอนแมวของคุณให้ แปรงฟัน และตัดเล็บตั้งแต่อายุยังน้อย
ศุภลักษณ์ ชอบเล่น ดังนั้นการออกกำลังกายจึงไม่ใช่ปัญหา ในช่วงวัยเด็กนั้น ศุภลักษณ์ นั้นชอบนำของเล่นชิ้นโปรดไปชวนให้เจ้าของพวกน้องเล่นด้วยกัน รวมไปถึง ชอบกระโดด และปีนป่าย ดังนั้นคุณจะต้องเตรียมคอนโดแมวที่แข็งแรงสักหน่อย
หากคุณต้องการให้แมว มีส่วนร่วม และส่งเสริมกิจกรรมของพวกเขา ของเล่นแบบโต้ตอบ เช่น ตัวชี้เลเซอร์ นั้นจะเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะมาก
ศุภลักษณ์ นั้นโดยทั่วไปแล้ว มีสุขภาพแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตาม น้อง ๆ อาจมีปัญหาสุขภาพบางข้ออยู่บ้าง
โดยน้อง ๆ อาจเกิดภาวะ Hypokalemia หรือ โพแทสเซียมในเลือดต่ำได้ แม้ว่าจะไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยสัตวแพทย์อาจให้ทานอาหารเสริมโพแทสเซียม เพื่อช่วยรักษาอาการนี้ได้ นอกจากนี้ ศุภลักษณ์ บางตัวอาจป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง และการรักษาน้ำหนักสัตว์เลี้ยงของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมนั้น เป็นวิธีการป้องกัน ที่สามารถลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้
ศุภลักษณ์ ส่วนน้อยอาจเกิดมาพร้อมกับความพิการของกะโหลกศีรษะ บางรายเป็นโรคต้อหิน และบางรายมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคทางเดินปัสสาวะ และนิ่วในไต และยังมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคภาวะรับรู้สึกเกินในแมว (feline hyperaesthesia syndrome)
ประวัติ
แมวศุภลักษณ์ นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ โดยที่มาของสายพันธุ์นี้เริ่มต้นด้วย แมวสีน้ำตาลช็อกโกแลตชื่อ หว่องเมา ( Wong Mau ) แมวของกะลาสีชาวพม่าในช่วงทศวรรษที่ 1920 ถึง 1930 ที่ได้เดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา และกะลาสีได้ส่งต่อเธอให้กับนักเพาะพันธุ์แมวพันธุ์วิเชียรมาศ ในซานฟรานซิสโกชื่อ ดร. โจเซฟ ทอมป์สัน ( Joseph Thompson ) ซึ่งได้บันทึกว่า หว่องเมา เป็น ” แมวที่ค่อนข้างตัวเล็ก กระดูกแข็งแรงดี แต่มีลำตัวที่เล็กกว่าแมววิเชียรมาศ หางสั้นกว่า มีลักษณะกลมมน โครงหน้าสั้น มีความกว้างระหว่างดวงตาที่มากกว่า “
ดร. ทอมป์สัน ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าแมวมีจุดสีน้ำตาลเข้มที่หน้า ซึ่งขับเน้นให้ขนสีน้ำตาลเข้มของเธอเด่นขึ้น เขาจึงเพาะพันธุ์แมวให้มีจุดแบบแมววิเชียรมาศ การผสมพันธุ์ทำให้เกิดลูกแมวครอกแรกที่สืบทอดลักษณะของสายพันธุ์ จากแม่พันธุ์ได้ชัดเจน
หลังจากนั้น ดร. ทอมป์สัน ก็ผสมพันธุ์ หว่องเมา กับลูกแมวสีน้ำตาลตัวหนึ่งของเธอ ครั้งนี้ ครอกนี้มีลูกแมวสามประเภทที่แตกต่างกัน ได้แก่ ตัวที่ดูเหมือนแมววิเชียรมาศ ตัวที่มีลักษณะเหมือนแม่ และตัวที่มีสีน้ำตาลเข้มไม่มีจุด และในที่สุดแมวสีน้ำตาลเข้มที่ไม่มีจุด ได้ถูกนำมาใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของแมวศุภลักษณ์
ศุภลักษณ์ ได้รับการจดทะเบียนครั้งแรกโดย Cat Fanciers Association (CFA) ในปี 1936 และสายพันธุ์นี้ได้รับการยอมรับอย่างเต็มรูปแบบในปี 1957 เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ล่าช้าคือ ผู้เพาะพันธุ์แมวศุภลักษณ์บางคน นำแมวของตนไปผสมข้ามพันธุ์กับ แมววิเชียรมาศ (ซึ่งภายหลังนั้นถูกห้าม) โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ทำให้เกิดการพัฒนาของ แมวท็องกินีส
ปัจจุบันนี้ CFA ได้รับรองทั้ง อเมริกันเบอร์มีส และ ยูโรเปียนเบอร์มีส ให้ขึ้นทะเบียนเป็นแมวศุภลักษณ์ แต่รองรับเพียงบางสีเท่านั้น
เธอรู้รึเปล่า?
ศุภลักษณ์ ชอบที่จะเข้าไปในที่ต่าง ๆ เพราะชอบที่จะเรียนรู้ เช่น เข้าไปสำรวจในตู้ต่าง ๆ ดังนั้นคุณจะต้องป้องกัน ไม่ให้แมวเข้าไปสำรวจในครัวของคุณจะดีกว่า
ศุภลักษณ์ ส่วนใหญ่นั้นไว้ใจคนแปลกหน้า และหาเพื่อนได้ง่าย หากคุณมีแขกมาเยี่ยมบ่อย ๆ ทักษะการเข้าสังคมที่โดดเด่นของน้องเหมียวพันธุ์นี้ จะต้องสร้างความประทับใจให้แขกของคุณแน่นอน!
ด้วยร่างกายที่มีกล้ามเนื้อ ศุภลักษณ์ จึงมีน้ำหนักมากกว่าที่เห็น มีบางคนเรียกลูกแมวสายพันธ์ุ ว่าเป็น “ก้อนอิฐที่ห่อด้วยผ้าไหม”
ลักษณะมาตรฐานของ แมวศุภลักษณ์
ตา
ดวงตากลมโตเบิกกว้าง ศุภลักษณ์ ส่วนใหญ่มีตาสีเหลือง แต่มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่มีตาสีฟ้า โดย ศุภลักษณ์ ที่มี ดวงตาสีฟ้านั้นไม่ได้รับการรับรอง
ขา และ อุ้งเท้า
ขาควรได้สัดส่วน และอุ้งเท้าควรมีรูปร่างโค้งมนชัดเจน
หาง
แมวเบอร์มีส มีหางตรงยาวปานกลาง
ลำตัว
ลำตัวควรมีขนาดปานกลาง มีโครงสร้างกระดูกที่แข็งแรง และมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่ดี มีน้ำหนักที่มากกว่ารูปร่างของพวกน้อง
หัว
ศุภลักษณ์ มีหัวกลมมน โครงหน้าสั้น จมูกโดดเด่น คอชัดเจนเป็นทรงสวย
หู
หูมีขนาดปานกลาง ฐานกว้าง และปลายมน ควรเอียงไปข้างหน้าเล็กน้อย
ขน
ศุภลักษณ์ มีขนที่ละเอียด และมันวาวพร้อมเนื้อสัมผัสแบบซาติน ขนควรสั้นมาก
สี
CFA จำแนกแมวศุภลักษณ์ ออกเป็นสี่สี ได้แก่ น้ำตาลเข้ม แพลทินัม น้ำเงิน และแชมเปญ สีหนังจมูกและอุ้งเท้าควรเข้ากับสีขน
คำถามที่พบบ่อย
ศุภลักษณ์ ราคาเท่าไหร่?
ราคาราว ๆ 15,000 ถึง 100,000 บาท
ศุภลักษณ์ ใหญ่แค่ไหน?
ศุภลักษณ์ มักจะมีขนาดกลาง ตัวที่โตเต็มที่จะมีน้ำหนักระหว่าง 3.5-5.5 กก. หรือมากกว่านั้น และมีความสูงตั้งแต่ 20-25 ซม. ขึ้นไป
ศุภลักษณ์ มีอายุขัยนานแค่ไหน?
อายุขัยเฉลี่ย คือ 12-16 ปี
ศุภลักษณ์ ขนร่วงเยอะหรือไม่?
ศุภลักษณ์ เป็นแมวขนสั้น ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ผลัดขนมากเท่ากับแมวพันธุ์ขนยาว